ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ : ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ของ ไสว_สุทธิพิทักษ์

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ถือกำเนิดจากความคิดและปณิธานอันแรงกล้าของ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ และอาจารย์สนั่น เกตุทัต ที่มุ่งมั่นจะทำงานด้านการศึกษา เพื่อประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ และได้มีความเห็นตรงกันในเรื่องการสร้างเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม ดังนั้นแนวความคิดในการจัดตั้งสถาบันการศึกษาของอาจารย์ทั้งสองจึงเริ่มขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2508 โดยขณะนั้นอาจารย์สนั่น เกตุทัต ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร และ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ (ผู้มีศักดิ์เป็นน้องเขย) ซึ่งทำงานด้านการศึกษาในตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยการค้า (พ.ศ. 2507 - 2508) แต่เนื่องจากอาจารย์สนั่นยังคงรับราชการที่กรมสรรพากรอยู่ ภาระหน้าที่ในการดำเนินการจัดตั้งสถาบันการศึกษาจึงเป็นหน้าที่หลักของ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ และเมื่ออาจารย์สนั่นเสร็จภารกิจจากงานในหน้าที่ในแต่ละวันแล้ว ก็จะมาช่วยคิด ช่วยทำ ร่วมกับ ดร.ไสว

ในที่สุดกระทรวงศึกษาธิการได้อนุญาตให้ “โรงเรียนธุรกิจบัณฑิตย์” เปิดทำการได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 ต่อมาในวันที่ 30 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยมี ฯพณฯ ทวี บุณยเกตุ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมกับเปลี่ยนคำว่า “โรงเรียน” เป็น “สถาบัน” ก่อตั้งบนพื้นที่ 1 ไร่ 14 ตารางวา ณ เลขที่ 73 ถนนพระราม 6 สถาบันการศึกษานาม “ธุรกิจบัณฑิตย์” จึงเกิดขึ้นในวงการศึกษาไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และได้เติบโตเป็น “วิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” ใน พ.ศ. 2513 ต่อมาใน พ.ศ. 2527 ได้เจริญก้าวหน้าเป็น “มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” บนเนื้อที่ 36 ไร่ ริมคลองประปา ถนนประชาชื่น โดยมี ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีคนแรก (พ.ศ. 2527 - 2537) จนถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มั่นคงและแข็งแกร่ง